โรงงานพระประแดง และโรงงานระยอง คว้ารางวัล GI5

โรงงานพระประแดง และโรงงานระยอง คว้ารางวัล GI5

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) โรงงานพระประแดงและโรงงานระยอง ได้รับโล่รางวัลโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Industry Award Level 5 : Green Network หรือ GI 5) ในกลุ่มของธุรกิจยางมะตอย โดยทั้ง 2 โรงงานเป็น 1 ใน 145 โรงงานที่ได้รับรางวัล GI 5 จากจำนวนทั้งหมด 74,000 โรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

  • โรงงานพระประแดง เป็น 1 ใน 10 โรงงานที่ได้รับรางวัล GI5 จากโรงงานทั้งหมด 6,156 โรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ
  • โรงงานระยอง เป็น 1 ใน 40 โรงงานที่ได้รับรางวัล GI5 จากโรงงานทั้งหมด 2,706 โรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง

การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) แสดงถึงความมุ่งมั่นในการขยายเครือข่ายสีเขียวตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยบริษัทได้สนับสนุนให้คู่ค้า พันธมิตร และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อการเป็นองค์กรที่ยั่งยืนร่วมกัน

จากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ โรงงานสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายสีเขียว ส่งเสริมห่วงโซ่อุปทาน และเป็นกลุ่มเครือข่ายสีเขียวให้กับองค์กร นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างความปลอดภัยและความสุขในการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดี ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงเพิ่มโอกาสแข่งขันทางการค้า โดยสามารถใช้โลโก้ GI 5 บนผลิตภัณฑ์เพื่อสื่อสารไปยังผู้บริโภค อีกทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาในด้านสิ่งแวดล้อมตามแผนโมเดล BCG และเป้าหมาย SDGs ของประเทศไทยต่อไป

โดยในวันดังกล่าว โรงงานพระประแดงและโรงงานระยองได้รับเกียรติให้เปิดบูธนำเสนอการดำเนินการของบริษัทฯ โดยได้รับเกียรติจาก นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมกับกลุ่มผู้รับรางวัลเข้าเยี่ยมชมบูธของบริษัทฯ ภายในบูธ ทางบริษัทฯ ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลการดำเนินการเกี่ยวกับนวัตกรรมสีเขียว กิจกรรมด้าน CSR เป้าหมายองค์กรที่มุ่งสู่ Net Zero ความมุ่งมั่นด้านการจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกิจกรรม/โครงการที่ร่วมทำกับชุมชน ซึ่งในวันดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมและให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว มีทั้งหมดมี 5 ระดับ ซึ่งแต่ละระดับที่ขอการรับรององค์กรต้องปฏิบัติตามตัวชี้วัดดังนี้

ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องให้และสื่อสาร

ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมหรือเป้าหมายการลดการปลดปล่อย GHGs และนำไปปฏิบัติให้เกิด ประสิทธิผล

ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม วางแผนงาน นำไปปฏิบัติ ติดตาม ประเมินผล ทบทวน และรักษาระบบคงไว้ หรือขอการรับรอง ISO14001

ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) ได้รับการรับรอง GI3 สร้างวัฒนธรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภายใน-ภายนอกองค์กร และรายงานผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อ สาธารณะ

ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) ได้รับการรับรอง GI4 รวมไปถึงสานสัมพันธ์ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน และจัดทำรายงานและเผยแพร่สานสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อม

ซ้อมอพยพหนีไฟและอบรมดับเพลิงขั้นสูงประจำปี 2567 โรงงานพระประแดง

ซ้อมอพยพหนีไฟและอบรมดับเพลิงขั้นสูงประจำปี 2567 โรงงานพระประแดง

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 โรงงานพระประแดง ได้ดำเนินการซ้อมอพยพหนีไฟและดับเพลิงขั้นสูง โดยวิทยากรและทีมงานจากสถานีดับเพลิงและกู้ภัยเขตบางขุนเทียน กองปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย6 สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ดับเพลิง ขั้นตอนการดับเพลิงเบื้องต้น การซ้อมอพยพหนีไฟ และการดับเพลิงขั้นสูง เพื่อให้พนักงานและผู้เกี่ยวข้องเกิดความรู้ความตระหนัก และมีความพร้อมในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเหมาะสมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับชุมชนรอบข้าง

LinkedIn Talent Awards 2024

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้เข้าชิงรางวัลทีมจัดหาบุคลากรยอดเยี่ยมแห่งปีในกลุ่มบริษัทที่มีพนักงานน้อยกว่า 1,000 คน ในงาน LinkedIn Talent Awards 2024 จากบริษัทกว่า 500 แห่ง

รางวัลนี้ไม่เพียงแต่ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของเราในการสรรหาบุคลากรที่มีคุณภาพ แต่ยังสะท้อนถึงความทุ่มเทและความร่วมมือของทีมงานที่ทำงานอย่างหนักเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่บริษัท เรารู้สึกขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับการรับรู้ในครั้งนี้ และมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าสร้างทีมงานที่เข้มแข็งและมีคุณภาพต่อไป

โรงงานระยอง ผ่านเกณฑ์การรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ ประจำปี 2567

โรงงานระยอง ผ่านเกณฑ์การรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ ประจำปี 2567

กลุ่มบริษัททิปโก้แอสฟัลท์ โรงงานระยอง ผ่านเกณฑ์การรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ ประจำปี 2567 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยโรงงานระยองเป็น 1 ใน 250 บริษัทจำกัดที่ผ่านเกณฑ์การประเมินจากจำนวนนิติบุคลในฐานข้อมูลของกรมฯ ซึ่งมีมากกว่า 900,000 ราย และเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทฯ ได้รับโล่เชิดชูเกียรติธุรกิจ จากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รางวัลดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของพนักงาน และผู้บริหารในการร่วมดำเนินธุรกิจขององค์กรภายใต้หลักธรรมาภิบาล 6 หลัก เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตามแนวคิด ESG ของภาครัฐ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียที่เกียวข้อง และเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับองค์กรอีกด้วย

คณะนักศึกษาจากพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเข้าศึกษาดูงานการทดสอบผลิตภัณฑ์แอสฟัลต์อิมัลชันที่โรงงานพระประแดง

คณะนักศึกษาจากพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเข้าศึกษาดูงานการทดสอบผลิตภัณฑ์แอสฟัลต์อิมัลชันที่โรงงานพระประแดง

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) โรงงานพระประแดง โดย คุณคริสทอป ดูบอส ผู้จัดการอาวุโส-ส่วนงานวิจัยและพัฒนา และคุณสมพันธ์ ลีลาปัญญาภรณ์ ผู้จัดการอาวุโส-ส่วนงานวิชาการเทคนิค ให้การต้อนรับ รศ.ดร.ปรีดา จาตุรพงศ์ และคณะนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีและวิธีการทดสอบผลิตภัณฑ์แอสฟัลต์อิมัลชัน และ แอสฟัลต์ซีเมนต์ในรูปแบบต่าง ๆ อีกทั้งยังได้มีการนำหัวข้องานศึกษาค้นคว้าอิสระที่คณะนักศึกษากลุ่มนี้กำลังศึกษาอยู่ เข้าหารือและรับคำแนะนำในการทำวิจัยเพื่อต่อยอดการเรียนในหลักสูตรวิชาวิศวกรรมการทาง

ISO 39001 Road Traffic Safety Management Systems (RTSMS) Training

ISO 39001 Road Traffic Safety Management Systems (RTSMS) Training

เมื่อวันที่ 5-6 กันยายน พ.ศ.2567 ส่วนงานพัฒนาระบบ (System Development) ได้จัดอบรมระบบการจัดการความปลอดภัยทางถนน (Road Traffic Safety Management Systems) ตามมาตรฐาน ISO 39001 กับ สถาบันมาตรฐานอังกฤษ (British Standards Institution หรือ BSI) เพื่อเสริมสร้างการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในองค์กร สำหรับการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางถนน การประเมินผลกระทบ และการพัฒนาความสามารถให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของบริษัท โดยจัดอบรม 2 หลักสูตร คือ ข้อกำหนดเบื้องต้น (Introduction and Requirement) และการตรวจสอบภายใน (Internal Auditor) ทำให้ผู้เข้าร่วมตระหนักถึงความสำคัญของระบบมาตรฐาน ISO 39001 พร้อมช่วยลดและขจัดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง การอบรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากพนักงานสำนักงานใหญ่ โรงงานของกลุ่มบริษัททิปโก้แอสฟัลท์ และ กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง รวมทั้งหมด 35 คน

ทิปโก้แอสฟัลท์ ลาว ต้อนรับคณะลูกค้าและพันธมิตรจาก สปป ลาว

ทิปโก้แอสฟัลท์ ลาว ต้อนรับคณะลูกค้าและพันธมิตรจาก สปป ลาว

บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ ลาว จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ ได้เชิญลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจจำนวน 16 ท่าน จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเยี่ยมชมอาคารสำนักงานใหญ่ และศึกษาดูงานเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางมะตอย ณ สำนักงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โรงงานพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2567

ในโอกาสนี้ โรงงานพระประแดงได้นำเสนอระบบการจัดการการขนส่งแบบรวมศูนย์ (Centralized Logistic) ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถสังเกตการณ์และควบคุมรถขนส่งยางมะตอยทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนบริหารจัดการควบคุมสินค้าคงคลัง ให้ข้อมูลการขนส่งอย่างเป็นปัจจุบันกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย และควบคุมความเร็วของรถขนส่งเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนของผู้ร่วมทางอีกด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้ายังได้เยี่ยมชมการทดสอบผลิตภัณฑ์ยางมะตอยน้ำสำหรับการทำไพร์มโคท (Prime Coat) โดยเน้นการเปรียบเทียบคุณสมบัติและประสิทธิภาพของยางมะตอยน้ำชนิด EAP กับยางคัตแบกแอสฟัลต์ ชนิด MC-70 ซึ่งยางมะตอยน้ำชนิด EAP มีคุณสมบัติและประสิทธิภาพดีกว่าในด้านของการประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิง เนื่องจากไม่ต้องอุ่นร้อนก่อนนำไปใช้งาน ซึ่งยางมะตอยน้ำชนิดนี้เป็นผลิตภัณฑ์และโซลูชันนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ในการก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนนในประเทศลาว เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางของธุรกิจ (Customer Centric) โดยคำนึงถึงความต้องการ ความคาดหวัง และประสบการณ์ของลูกค้าเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับลูกค้าและยกระดับความปลอดภัยในทุกภาคส่วน

บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเดอลาซาล ประเทศฟิลิปปินส์

บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเดอลาซาล ประเทศฟิลิปปินส์

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) โรงงานพระประแดง นำโดยคุณสุทัศน์ ธรรมยศ ผู้จัดการโรงงาน

คุณคริสทอป ดูบอส ผู้จัดการอาวุโส ส่วนงานวิจัยและพัฒนา และคุณสมพันธ์ ลีลาปัญญาภรณ์ ผู้จัดการอาวุโส ส่วนงานวิชาการเทคนิค ให้การต้อนรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอลาซาล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศฟิลิปปินส์ พร้อมด้วยบุคลากรจากคณะวิศวกรรมศาสตร์โยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ.ดร.ชยุตม์ งามโขนง ซึ่งการเยี่ยมชมโรงงานครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสองมหาวิทยาลัย ซึ่งมีแนวคิดที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนการสอนร่วมกัน จึงได้มีการเสนอโครงการในการนำนักศึกษาจากฟิลิปปินส์มาศึกษาดูงานกับหน่วยงานภาคเอกชนที่มีชื่อเสียง

คณะนักศึกษาได้รับฟังการดำเนินงานของทิปโก้แอสฟัลท์ ทั้งในด้านเทคนิคการบริหารจัดการขนส่ง การผลิตผลิตภัณฑ์แอสฟัลต์ที่ทันสมัย รวมถึงการบริหารจัดการคลังเก็บผลิตภัณฑ์แอสฟัลต์ขนาด 36,000 ตัน และกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้า นอกจากนี้ ยังได้รับความรู้เพิ่มเติมด้านเทคโนโลยีแอสฟัลต์คอนกรีตเพื่อความยั่งยืน

ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ คณะนักศึกษาจากฟิลิปปินส์และบุคลากรจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการแลกเปลี่ยนความรู้ในศูนย์วิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์แอสฟัลต์ ซึ่งคณะนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของถนนแอสฟัลต์คอนกรีต รวมถึงข้อดีด้านความยั่งยืนที่เหนือกว่าถนนซีเมนต์คอนกรีตทั่วไป นอกจากนี้ยังได้ศึกษาเทคโนโลยีการรีไซเคิลและเทคโนโลยีการพัฒนาถนนแอสฟัลต์คอนกรีตแบบผสมอุ่นเพื่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้คณะผู้เข้าเยี่ยมชมได้รับแรงบันดาลใจในการนำความรู้นี้กลับไปใช้ในประเทศฟิลิปปินส์เพื่อส่งเสริมการก่อสร้างถนนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และคาดหวังว่าจะได้สานต่อความร่วมมือและนวัตกรรมร่วมกันต่อไปในอนาคตอีกด้วย

กลุ่มบริษัททิปโก้แอสฟัลท์ คว้า 3 รางวัล ในงาน Thailand Kaizen Award 2024

กลุ่มบริษัททิปโก้แอสฟัลท์ คว้า 3 รางวัล ในงาน Thailand Kaizen Award 2024

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 กลุ่มบริษัททิปโก้แอสฟัลท์ฯ โรงงานนครราชสีมา โรงงานสุราษฎร์ธานี  และโรงงานพิษณุโลก ได้รับรางวัลจากการประกวด Thailand Kaizen Award 2024 ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 6-9 สิงหาคม 2567 การประกวด Kaizen แบ่งออกเป็นทั้งหมด 7 ประเภท มีบริษัทส่งผลงานเข้าร่วมประกวด 141 องค์กร และมีโครงการเข้าร่วมประกวด 417 โครงการ โดยมีโครงการเข้ารอบสุดท้ายในการนำเสนอที่ศูนย์ฯไบเทค บางนา จำนวนทั้งสิ้น 114 โครงการ

 ในปีนี้ กลุ่มบริษัททิปโก้แอสฟัลท์ ได้ส่งโครงการเข้าประกวดในประเภท Kaizen Suggestion Systems (KSS) ทั้งหมด 8 โครงการ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกระบวนการโดยใช้ต้นทุนอุปกรณ์หรืองบประมาณที่ไม่สูง โดยมีโครงการประเภท KSS ที่เข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด 32 โครงการ เป็นผลงานของกลุ่มบริษัทฯ จำนวน 3 โครงการ และได้รับรางวัลทั้งหมด 3 รางวัล ได้แก่ โครงการ “รถเข็นถ่ายยางถังด้วยแรงสปริง” โดยคุณสมพงษ์ เพ็งสูงเนิน พนักงานอาวุโสคลังสินค้า จากโรงงานนครราชสีมา ได้รับรางวัล Golden Award โครงการ “อุปกรณ์ฉุกเฉินสำหรับรถบรรทุก” โดยคุณภูมินทร์ ธันยาดิษย์ ช่างซ่อมยานพาหนะชำนาญการ จากโรงงานสุราษฎร์ธานี ได้รับรางวัล Silver Award และโครงการ “ยอดเลย… ไม่ขันละ” โดยคุณยอดรัก ทนช่างยา พนักงานขับรถโฟล์คลิฟท์ หน่วยงานคลังสินค้า จากโรงงานพิษณุโลก ได้รับรางวัล Bronze Award 

รางวัลทั้ง 3 นี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัทฯ ในการส่งเสริมและสนับสนุนพนักงานในการคิดพัฒนา กระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับการทำงานภายในองค์กรให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

โครงการจากโรงงานนครราชสีมา มีชื่อโครงการว่า “รถเข็นถ่ายยางถังด้วยแรงสปริง” ประดิษฐ์และพัฒนาโดย คุณสมพงษ์ เพ็งสูงเนิน พนักงานอาวุโสคลังสินค้า เกิดจากความต้องการปรับปรุงวิธีการทำงานจากเดิมที่ต้องรอคอยงานของรถยกโฟคลิฟท์ทำให้กระทบต่อการทำงาน ส่งผลให้การโหลดสินค้าให้ลูกค้าเกิดการล่าช้า เพื่อลดเวลาการรอคอยงาน และเพื่อลดความเสี่ยงอุบัติเหตุจากกระบวนการทำงานเดิมที่ต้องใช้รถโฟคลิฟท์ยกถังขณะที่มีการถ่ายสินค้า และส่งผลดีต่อธุรกิจคือส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตรงเวลา ไม่เกิดการรอคอยงานเป็นการใช้เครื่องจักรได้เต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนต่อกลุ่มเพื่อน ๆ พนักงาน โดยไม่ต้องรอคอยงาน มีเวลาไปสร้างสรรค์งานอื่น ๆ และไอเดียปรับปรุงอื่น ๆ ได้มากขึ้น

โครงการจากโรงงานสุราษฎร์ธานี มีชื่อโครงการว่า “อุปกรณ์ฉุกเฉินสำหรับรถบรรทุก” ประดิษฐ์และพัฒนาโดยคุณภูมินทร์ ธันยาดิษย์ ช่างซ่อมยานพาหนะชำนาญการ เกิดจากเป้าหมายด้านความปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุจากรถขนส่งสินค้า และต้องการส่งเสริมให้พนักงานขับรถสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เมื่อรถเสียหน้างาน ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจคือสามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตรงเวลาครบถ้วน ลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าบริการซ่อมฉุกเฉิน และต่อสังคมชุมชนคือสร้างความมั่นใจให้กับผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน

โครงการจากโรงงานพิษณุโลก มีชื่อโครงการว่า “ยอดเลย… ไม่ขันละ” (ปรับปรุงการ์ดป้องกันปั๊มแบบสวมง่าย) ประดิษฐ์และพัฒนาโดย คุณยอดรัก ทนช่างยา พนักงานขับรถโฟล์คลิฟท์ หน่วยงานคลังสินค้า เกิดจากเป้าหมายต้องการลดความสูญเปล่าของขั้นตอนที่ไม่จำเป็นในการทำงานโดยในการทำความสะอาดเชิงลึกของเครื่องจักรปั๊มสูบถ่ายยางมะตอยมีขั้นตอนที่ต้องขันน็อตเพื่อคลายและถอดการ์ดป้องกันจุดหมุนของปั๊มออกเพื่อทำความสะอาดและตรวจสอบ แต่พบว่ากระบวนการดังกล่าวใช้เวลาในการทำงานนาน มีลักษณะงานที่มีความสูญเปล่าไม่จำเป็นแฝงอยู่ในขั้นตอนการทำงาน คุณยอดรักจึงได้ประดิษฐ์การ์ดป้องกันปั๊มแบบสวมง่าย สวมได้เร็วไม่ต้องใช้การขันแน่น และลดความเหนื่อยล้าจากการเดินหรือการเคลื่อนที่โดยไม่จำเป็นในการเดินไป-กลับห้องช่างซ่อมบำรุงเพื่อยืมเครื่องมือ เนื่องจากหลังการปรับปรุง ผู้ปฏิบัติงานไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือดังกล่าว

โครงการเพิ่มความปลอดภัยในแพล้นท์ลูกค้า บริษัท ธงชัยเจริญก่อสร้าง จำกัด โดยโรงงานพระประแดง

โครงการเพิ่มความปลอดภัยในแพล้นท์ลูกค้า บริษัท ธงชัยเจริญก่อสร้าง จำกัด โดยโรงงานพระประแดง

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 โรงงานพระประแดง ได้เข้าไปติดตั้งการ์ดกันชนในแพล้นท์บริษัท ธงชัยเจริญก่อสร้าง จำกัด อ.เมือง จ.นครปฐม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวคับแคบและไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนอันตรายจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น  ทางบริษัทฯ ช่วยส่งเสริมความปลอดภัยในแพล้นท์ลูกค้า โดยการติดตั้งการ์ดกันชน เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและรับฟังเสียงจากลูกค้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อส่งเสริมกิจกรรมยิ่งแชร์  ยิ่งได้ ในการแบ่งปันจุดเสี่ยงจุดอันตรายในแพล้นท์ลูกค้าและในเส้นทางการขนส่งเพื่อเฝ้าระวังจุดที่เป็นความเสี่ยง พบว่าจากการดำเนินการกิจกรรมระดับความพึงพอใจของลูกค้าอยู่ที่ 98%