นวัตกรรมสีเขียว
สู่ อนาคตที่ยั่งยืน
นวัตกรรมสีเขียว
สู่ อนาคตที่ยั่งยืน
กลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลุ่มบริษัทฯ ได้พัฒนากลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจยางมะตอยในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และมีแผนที่จะขยายให้ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ในเครือในอนาคต โดยเรามีโครงการเชิงกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้กลยุทธ์นี้จำนวน 6 โครงการ ดังนี้
หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์
กลุ่มบริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนในพลังงานหมุนเวียนผ่านการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ที่โรงงานต่าง ๆ ของเราในประเทศไทย โครงการนี้เป็นการวางรากฐานเพื่อนำไปสู่การลดการพึ่งพารูปแบบพลังงานที่ใช้กันในปัจจุบัน ทั้งนี้ โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) จะผลิตพลังงานไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งผลให้สัดส่วนของพลังงานที่ยั่งยืนปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศลดลง
หม้อน้ำมันร้อนระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
กลุ่มบริษัทฯ มีแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการเปลี่ยนมาใช้หม้อต้มน้ำมันร้อนแบบไฟฟ้า (Electrical hot oil boiler) แทนการใช้หม้อต้มน้ำมันร้อนแบบใช้น้ำมันดีเซล (Diesel hot oil boiler) สำหรับกระบวนการผลิต ส่งผลให้ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้น้ำมันดีเซลเป็นแหล่งเชื้อเพลิงในการทำความร้อนหมดไป นอกจากนี้ เรามีแผนที่จะลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำหรับหม้อต้มน้ำมันร้อนแบบไฟฟ้าเเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากโครงข่ายยิ่งขึ้นไปอีก
พันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน กลุ่มบริษัทฯ ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการขนส่ง และมีอุดมการณ์ร่วมกัน เพื่อช่วยให้เราสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 และ 2 ได้ในขณะเดียวกัน
กลุ่มบริษัทฯ ตระหนักดีว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการขนส่งของพันธมิตรถือเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม ขอบเขตที่ 3 ของกลุ่มบริษัทฯ เราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว เช่น การพิจารณาร่วมงานกับพันธมิตรด้านการขนส่งสินค้าที่สามารถให้บริการด้วยรถบรรทุกไฟฟ้าหรือรถบรรทุกประหยัดน้ำมัน
การปลูกป่า
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการปลูกป่าจำนวนมาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มและฟื้นฟูพื้นที่ป่า และเพื่อสานต่อความมุ่งมั่นนี้ กลุ่มบริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการเชิงกลยุทธ์ด้านการปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้จำนวน 120,000 ต้น ซึ่งเริ่มต้นในปี 2567 และจะแล้วเสร็จภายในปี 2576 ทั้งนี้ ประมาณการปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะลดลงเท่ากับ 1,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ถึงแม้ว่าการปลูกป่าจะมีบทบาทสำคัญในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลือของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งช่วยสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย โครงการดังกล่าวจะไม่ถูกรวมอยู่ในเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2573
ประโยชน์จากโซลูชันสีเขียว
ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 70-90% เมื่อเทียบกับการทำงานแอสฟัลต์คอนกรีตแบบผสมร้อน
30-40% ปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ลดการใช้พลังงาน 20% ในกระบวนการผลิตแอสฟัลต์คอนกรีต
ลดการปล่อยควันและกลิ่นเหม็นสูงถึง 80% ในระหว่างการปูแอสฟัลต์คอนกรีต
โซลูชั่นสีเขียวสำหรับงานถนน
การฉาบผิวทางแบบไมโครเซอร์เฟสซิ่ง/ไฟโบรซีล
คือ การปรับปรุงผิวทางเก่าที่เสื่อมสภาพ ลื่นและไม่ปลอดภัย ให้มีความแข็งแรง และเพิ่มค่าการยึดเกาะของยางรถยนต์และความต้านทานการลื่นไถลของยวดยาน โดยเป็นวิธีการฉาบผิวทางใหม่ โดยใช้ โพลิเมอร์โมดิฟายด์แอสฟัลต์อิมัลชัน ผสมเข้ากับวัสดุมวลรวม, วัสดุผสมแทรก, สารผสมเพิ่ม และใยสังเคราะห์ เพื่อความยืดหยุ่น ทนทาน สามารถรับแรงดึงได้สูง และทนต่อทุกสภาพอากาศ โดยสามารถป้องกันน้ำซึมลงสู้ใต้ชั้นทาง สามารถใช้ได้กับชั้นผิวทางบนถนนชนิดต่างๆ อาทิเช่น ทางด่วนพิเศษ, ทางยกระดับ, สะพานข้ามแม่น้ำ และ อุโมงค์ทางลอดต่างๆ
- ช่วยลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่น้อยกว่า 70% เมื่อเปรียบเทียบกับการปรับปรุงผิวทางด้วยการปูแอสฟัลต์คอนกรีตใหม่ทับผิวทางเดิม
- ช่วยยืดอายุการใช้งานของถนนแอสฟัลต์คอนกรีตได้อีก 5-7 ปี
- ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2562-2566 ทิปโก้แอสฟัลท์ ได้จำหน่ายโพลิเมอร์โมดิฟายด์แอสฟัลต์อิมัลชัน ประมาณ 18,400 ตัน เพื่อไปใช้งาน งานปรับปรุงผิวทาง / การฉาบผิวทางสูงถึง 14 ล้าน ตร.ม. ช่วยลดการเผาไหม้เชื้อเพลิง FOA ได้ถึง 8 ล้านลิตร
การหมุนเวียนวัสดุชั้นทางเดิมมาใช้งานใหม่
คือ วิธีการปรับปรุงชั้นทางเดิมที่เสียหายโดยการ ขุดรื้อ ขูดไส้ ชั้นทางเดิมขึ้นมาแล้วทำการปรับปรุงคุณภาพ ให้ได้ตามข้อกำหนด ซึ่งอาจจะเพิ่มเติมวัสดุผสม ใหม่เข้าไปเพื่อปรับปรุงขนาดคละ และเติมสารปรับปรุงคุณภาพเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงคุณภาพอีกครั้ง อาทิเช่น ปูนซีเมนต์, ปูนขาว, เถ้าลอย หรือ ยางแอสฟัลต์อิมัลชัน ก่อนที่จะทำการบดอัดกลับในชั้นทางเดิมและปิดทับผิวทางด้วยวัสดุแอสฟัลต์คอนกรีตใหม่ ซึ่งการปรับปรุงคุณภาพชั้นทางเดิมด้วยวิธีการปรับปรุงแบบในที่ ช่วยให้ประหยัดเวลาและลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงด้านการขนส่งตลอดจนการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติได้อีกด้วย
ช่วยลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้สูงถึง 80% เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานแบบขูดไส้พื้นทางเดิมออก และนำวัสดุใหม่มาปูทับแทนที่เดิม
- สามารถใช้ได้กับถนนทุกประเภท, ทางเชื่อมระหว่างเมือง, ทางด่วน, ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์
- ส่วนใหญ่ใช้ในการปรับปรุงชั้นพื้นทาง
- ยางแอสฟัลต์อิมัลชันที่ใช้ในงานปรับปรุงชั้นพื้นทาง สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อีกในอนาคต
แอสฟัลต์คอนกรีตแบบผสมเย็น
คือ การผสมวัสดุมวลรวม เข้ากับแอสฟัลต์อิมัลชัน CMS-2h โดยที่กระบวนการผสมสามารถทำได้ในอุณภูมิปกติ ไม่ต้องให้ความร้อนเหมือนกับแอสฟัลต์คอนกรีตแบบผสมร้อน ทำให้ประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิง พลังงาน ลดการเผาไหม้และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่สิ่งแวดล้อม สามารถนำแอสฟัลต์คอนกรีตแบบผสมเย็นมาใช้ในการบูรณะปรับปรุงผิวทาง และงานเสริมผิวทั่วไปได้
- ลดกลิ่นและสารระเหยไฮโดรคาร์บอนที่หน้างานได้ สูงถึง 90%
- ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิตได้ 100%
- ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2561-2565 ทิปโก้แอสฟัลท์ ได้จำหน่ายยางแอสฟัลต์อิมัลชัน เพื่อไปผลิตเป็น แอสฟัลต์คอนกรีตแบบผสมเย็น สูงถึง 484,000 ตัน ช่วยลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงน้ำมันเตาเอได้ถึง 2.66 ล้านลิตร
Green Innovation
to a sustainable future
อนาคตสีเขียว
ทิปโก้แอสฟัลท์ มุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นใหม่ๆที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ โดยการวิจัยพัฒนาแอสฟัลต์ซีเมนต์จากพืชธรรมชาติ หรือ ไบโอ ไบเดอร์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ตลอดจนการพัฒนาค้นหาพลังงานหมุนเวียนจากพืช เพื่อลดปัญหาการใช้เชื้อเพลิงแบบน้ำมัน ที่ก่อให้เกิดมลพิษในระยะยาว
แอสฟัลต์คอนกรีตแบบผสมอุ่น
แอสฟัลต์คอนกรีตแบบผสมอุ่น เป็นเทคโนโลยีการผลิตแอสฟัลต์คอนกรีตแบบใหม่ ที่มีจุดเด่นหลายประการเมื่อเปรียบเทียบกับแอสฟัลต์คอนกรีตแบบผสมร้อน ทั่วไป อาทิเช่น การใช้อุณหภูมิในการผลิตที่ต่ำกว่าประมาณ 10 ถึง 40 องศาเซลเซียส ทำให้ใช้พลังงานน้อยลง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งจากการผลิตและการนำไปใช้งาน โดยที่ยังคงประสิทธิภาพ มีอายุการใช้งานถนนและป้องกันการเกิดร่องล้อได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ แอสฟัลต์คอนกรีตแบบผสมอุ่นยังทำงานง่าย เพราะอุณภูมิที่ไม่สูงมากในการปูและบดอัดผิวทาง ทำให้มีความปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงานก่อสร้าง และผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา ซึ่งการทำถนนด้วยแอสฟัลต์คอนกรีตแบบผสมอุ่นจึงเป็นอีกทางเลือกที่มีความคุ้มค่าและมีความปลอดภัยสำหรับงานก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนในยุคปัจจุบัน
งานปรับปรุงผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตเดิม นำกลับมาใช้ใหม่
เป็นวิธีการก่อสร้างและบำรุงถนนที่ยั่งยืน วิธีการนี้เริ่มจาการนำวัสดุแอสฟัลต์คอนกรีตจากพื้นถนนเก่าโดยใช้เครื่องจักรขูด ไส รื้อผิวทางเดิม แล้วนำวัสดุเหล่านั้นกลับมาผ่านกระบวนการผลิตใหม่ที่โรงงานผลิตแอสฟัลต์คอนกรีต โดยการให้ความร้อนแก่วัสดุแอสฟัลต์คอนกรีตเดิม และปรับปรุงคุณภาพแอสฟัลต์ซีเมนต์เก่าที่มีอยู่แล้วโดยเติมสารปรับปรุงคุณภาพแอสฟัลต์ซีเมนต์ ข้อดีของการทำงานปรับปรุงผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตเดิม นำกลับมาใช้ใหม่ คือเป็นวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสามารถลดการใช้วัสดุหินใหม่และลดปริมาณขยะของวัสดุเก่าโดยการนำกลับมาใช้ใหม่ ช่วยประหยัดแอสฟัลต์ซีเมนต์ ประหยัดทรัพยากรธรรมชาติหิน ลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ทางถนนที่ยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
รีจูวีเนเตอร์
รีจูวีเนเตอร์ เป็นสารประกอบไฮโดรคารบอน ที่สามารถสกัดออกมาจากพืชธรรมชาติได้โดยตรง เพื่อทดแทนการกลั่นมาจากน้ำมันดิบ มีประโยชน์ในการนำมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพแอสฟัลต์คอนกรีตเก่า ให้กลับมามีความยืดหยุ่น แข็งแรง และทนทานต่อการใช้งาน สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ต่อเนื่อง เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับการฟื้นฟูผิวจราจรแอสฟัลต์ที่ชำรุด โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานในการขนส่งวัสดุใหม่มาจากแหล่งอื่นเข้ามาทำงาน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคารบอนไดออกไซด์ ทำให้ไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการยืดอายุการใช้งานของโครงสร้างเดิมที่มี
ไบโอไบเดอร์
ไบโอไบเดอร์ คือแอสฟัลต์ซีเมนต์ที่สกัดมาจากพืชธรรมชาติ ทำหน้าที่ทดแทนแอสฟัลต์ซีเมนต์ที่ผลิตจากการกลั่นน้ำมันดิบ ไบโอไบเดอร์มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับแอสฟัลต์ซีเมนต์ทั่วไป แต่ส่งผลดีในด้านการลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตและก่อสร้าง นอกจากนี้ ไบโอไบเดอร์ยังสามารถนำไปปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น โดยพัฒนาเป็นแอสฟัลต์ซีเมนต์ผสมไบโอไบเดอร์ชนิดปรับปรุงคุณสมบัติ เกรดพิเศษสำหรับงานที่ต้องการความทนทานต่อการเกิดร่องล้อสูง หรือต้องการคุณสมบัติการยึดเกาะผิวที่ดีเยี่ยมหรือในทางกลับกัน ไบโอไบเดอร์สามารถนำมาพัฒนาเพื่อใช้แทนตัวทำละลาย เพื่อผลิตเป็นแอสฟัลต์อิมัลชันประเภทเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ ไบโอไบเดอร์จึงถือเป็นนวัตกรรมสีเขียวที่แท้จริง เพื่อสนับสนุนอนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมก่อสร้างถนนและยางมะตอย
ไบโอแมส
ไบโอแมส จัดเป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนที่ได้มาจากพืช ซึ่งสามารถปลูกใหม่ทดแทนขึ้นมาได้เรื่อย ๆ วัตถุดิบส่วนใหญ่เป็นวัสดุเหลือมาจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการแปรรูปพืช เช่น เศษไม้ ซังข้าวโพด แกลบ กะลาปาล์ม เปลือกผลไม้ ฯลฯ จากโรงงานต่าง ๆ อาทิ โรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงสีข้าว โรงงานกระดาษ และโรงงานผลิตผงชูรส เศษเหลือทิ้งเหล่านี้จะผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยการบดและอบแห้งเพื่อกำจัดความชื้น ก่อนนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนให้ความร้อนในกระบวนการผลิตแอสฟัลต์คอนกรีต ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลได้มากกว่า 40% การใช้ไบโอแมสจึงเป็นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดการสูญเสียและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน