กลุ่มบริษัททิปโก้แอสฟัลท์ คว้า 3 รางวัล ในงาน Thailand Kaizen Award 2024

กลุ่มบริษัททิปโก้แอสฟัลท์ คว้า 3 รางวัล ในงาน Thailand Kaizen Award 2024

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 กลุ่มบริษัททิปโก้แอสฟัลท์ฯ โรงงานนครราชสีมา โรงงานสุราษฎร์ธานี  และโรงงานพิษณุโลก ได้รับรางวัลจากการประกวด Thailand Kaizen Award 2024 ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 6-9 สิงหาคม 2567 การประกวด Kaizen แบ่งออกเป็นทั้งหมด 7 ประเภท มีบริษัทส่งผลงานเข้าร่วมประกวด 141 องค์กร และมีโครงการเข้าร่วมประกวด 417 โครงการ โดยมีโครงการเข้ารอบสุดท้ายในการนำเสนอที่ศูนย์ฯไบเทค บางนา จำนวนทั้งสิ้น 114 โครงการ

 ในปีนี้ กลุ่มบริษัททิปโก้แอสฟัลท์ ได้ส่งโครงการเข้าประกวดในประเภท Kaizen Suggestion Systems (KSS) ทั้งหมด 8 โครงการ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกระบวนการโดยใช้ต้นทุนอุปกรณ์หรืองบประมาณที่ไม่สูง โดยมีโครงการประเภท KSS ที่เข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด 32 โครงการ เป็นผลงานของกลุ่มบริษัทฯ จำนวน 3 โครงการ และได้รับรางวัลทั้งหมด 3 รางวัล ได้แก่ โครงการ “รถเข็นถ่ายยางถังด้วยแรงสปริง” โดยคุณสมพงษ์ เพ็งสูงเนิน พนักงานอาวุโสคลังสินค้า จากโรงงานนครราชสีมา ได้รับรางวัล Golden Award โครงการ “อุปกรณ์ฉุกเฉินสำหรับรถบรรทุก” โดยคุณภูมินทร์ ธันยาดิษย์ ช่างซ่อมยานพาหนะชำนาญการ จากโรงงานสุราษฎร์ธานี ได้รับรางวัล Silver Award และโครงการ “ยอดเลย… ไม่ขันละ” โดยคุณยอดรัก ทนช่างยา พนักงานขับรถโฟล์คลิฟท์ หน่วยงานคลังสินค้า จากโรงงานพิษณุโลก ได้รับรางวัล Bronze Award 

รางวัลทั้ง 3 นี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัทฯ ในการส่งเสริมและสนับสนุนพนักงานในการคิดพัฒนา กระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับการทำงานภายในองค์กรให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

โครงการจากโรงงานนครราชสีมา มีชื่อโครงการว่า “รถเข็นถ่ายยางถังด้วยแรงสปริง” ประดิษฐ์และพัฒนาโดย คุณสมพงษ์ เพ็งสูงเนิน พนักงานอาวุโสคลังสินค้า เกิดจากความต้องการปรับปรุงวิธีการทำงานจากเดิมที่ต้องรอคอยงานของรถยกโฟคลิฟท์ทำให้กระทบต่อการทำงาน ส่งผลให้การโหลดสินค้าให้ลูกค้าเกิดการล่าช้า เพื่อลดเวลาการรอคอยงาน และเพื่อลดความเสี่ยงอุบัติเหตุจากกระบวนการทำงานเดิมที่ต้องใช้รถโฟคลิฟท์ยกถังขณะที่มีการถ่ายสินค้า และส่งผลดีต่อธุรกิจคือส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตรงเวลา ไม่เกิดการรอคอยงานเป็นการใช้เครื่องจักรได้เต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนต่อกลุ่มเพื่อน ๆ พนักงาน โดยไม่ต้องรอคอยงาน มีเวลาไปสร้างสรรค์งานอื่น ๆ และไอเดียปรับปรุงอื่น ๆ ได้มากขึ้น

โครงการจากโรงงานสุราษฎร์ธานี มีชื่อโครงการว่า “อุปกรณ์ฉุกเฉินสำหรับรถบรรทุก” ประดิษฐ์และพัฒนาโดยคุณภูมินทร์ ธันยาดิษย์ ช่างซ่อมยานพาหนะชำนาญการ เกิดจากเป้าหมายด้านความปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุจากรถขนส่งสินค้า และต้องการส่งเสริมให้พนักงานขับรถสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เมื่อรถเสียหน้างาน ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจคือสามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตรงเวลาครบถ้วน ลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าบริการซ่อมฉุกเฉิน และต่อสังคมชุมชนคือสร้างความมั่นใจให้กับผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน

โครงการจากโรงงานพิษณุโลก มีชื่อโครงการว่า “ยอดเลย… ไม่ขันละ” (ปรับปรุงการ์ดป้องกันปั๊มแบบสวมง่าย) ประดิษฐ์และพัฒนาโดย คุณยอดรัก ทนช่างยา พนักงานขับรถโฟล์คลิฟท์ หน่วยงานคลังสินค้า เกิดจากเป้าหมายต้องการลดความสูญเปล่าของขั้นตอนที่ไม่จำเป็นในการทำงานโดยในการทำความสะอาดเชิงลึกของเครื่องจักรปั๊มสูบถ่ายยางมะตอยมีขั้นตอนที่ต้องขันน็อตเพื่อคลายและถอดการ์ดป้องกันจุดหมุนของปั๊มออกเพื่อทำความสะอาดและตรวจสอบ แต่พบว่ากระบวนการดังกล่าวใช้เวลาในการทำงานนาน มีลักษณะงานที่มีความสูญเปล่าไม่จำเป็นแฝงอยู่ในขั้นตอนการทำงาน คุณยอดรักจึงได้ประดิษฐ์การ์ดป้องกันปั๊มแบบสวมง่าย สวมได้เร็วไม่ต้องใช้การขันแน่น และลดความเหนื่อยล้าจากการเดินหรือการเคลื่อนที่โดยไม่จำเป็นในการเดินไป-กลับห้องช่างซ่อมบำรุงเพื่อยืมเครื่องมือ เนื่องจากหลังการปรับปรุง ผู้ปฏิบัติงานไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือดังกล่าว

Recommended Posts